วันนี้ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่เดป ให้เข้าไปช่วยสนับสนุนการจัดทำแผนหมู่บ้าน เนื่องจากท่านนายอำเภอได้สั่งการในที่ประชุมประจำเดือนให้ทุกหมู่บ้านได้จัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้ทันกับห้วงเวลาการบูรณาการแผนตำบลประจำปี ซึ่งจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งท่านนายมนต์ชัย หนูสาย นายอำเภอท่านก่อนได้สั่งการที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของแผนพัฒนาหมู่บ้าน และทำความเข้าใจกับกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้สื่อสารไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทความสำคัญหลักในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน
ในการพัฒนาหมู่บ้านโดยงบประมาณจากภาครัฐ หากไม่ใช่นโยบายแล้วการจะดำเนินกิจกรรมโครงการโดยใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ต้องมาจากความต้องการ หรือความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการที่จะรู้ความต้องการของประชาชนในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการ โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ต่างๆ ในส่วนใหญ่แล้วมักใช้เครื่องมือที่เรียกว่า SWOT (อ่านว่า สวอท) เป็นเครื่องมืออย่างง่ายในการช่วยวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ในทุกๆด้านของคนในหมู่บ้าน (หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หาจุดเด่น ที่เราอยากจะชูให้โดดเด่นมากขึ้น หรือปัญหา ที่เราอยากจะแก้) เพื่อให้เห็นว่าในหมู่บ้าน/ชุมชน มีสภาพคงาทเป็นอยู่อะไรบ้าน มีปัญหาอะไร เพื่อให้มีกิจกรรมหรือโครงการที่สามารถลงไปแก้ไขปัญหา หรือยกระดับหมู่บ้านให้ดีขึ้น
เมื่อได้กิจกรรมโครงการต่างๆ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอจะร่วมบูรณาการกันในประชุมบูรณาการแผนตำบล โครงการใดอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ท้องถิ่นสามารถทำแผนเพื่อใช้งบประมาณได้ทางท้องถิ่นจะนำไปทำโครงการ กิจกรรมใดที่ทางหมู่บ้านสามารถทำได้เองก็จะกำหนดแผนการดำเนินกิจกรรม โครงการใดที่ทำร่วมกันได้ก็จะพูดคุยกันว่าส่วนงานใดใครเป็นผู้ดำเนินการ และแผนที่ผ่านเวทีบูรณาการของแต่ละตำบลจะรวบรวมอยู่ในที่ประชุมแผนอำเภอ เมื่ออำเภอมีโครงการต่างๆ อยู่ในมือ (ท่านนายอำเภอ มนต์ชัย ให้คำเรียกว่า Project Bank) หากมีหน่วยงานใดมีงบประมาณก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการเลือกเป้าเป้าหมายหมู่บ้านมาทำโครงการในการแก้ไขปัญหา หรือตอบสนองความต้องการของแต่ละหมู่บ้านได้ เพื่อให้ตรงความต้องการและลดเวลาการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งวันที่จะประชุมทำแผนหมู่บ้านส่วนใหญ่มักจะใช้ที่ประชุมหมู่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเย็นชาวบ้านเลิกงาน ประมาณ 17.00 น. บ้าง 18.00 น. บ้าง และเมื่อประชุมเสร็จต่างรีบเร่งแยกย้ายก่อนจะค่ำมืดเพื่อไปหุงหาอาหารให้ทันกินข้าวพร้อมหน้ากันในครอบครัวกัน
เมื่อผู้ใหญ่เดปขอให้ไปช่วยทำแผนหมู่บ้าน ผมก็ถามเวลาเริ่มประชุม คือ 18.00 น. ก็รีบบอกผู้ใหญ่ทันที ขอเปลี่ยนเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อให้มีเวลาในการทำแผนมากขึ้นและไม่มืดค่ำนัก จากประสบการณ์ทำแผนให้หมู่บ้านก่อนหน้านี้ ผมใช้เวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเวลาที่ใช้ไปพูดตามจริงก็ยังไม่พอนัด ตัดบางช่วงบางตอนที่ใช้เวลามากออกไปแล้ว ก็ยังใช้เวลานานอยู่ดี จนค่ำมืดชาวบ้านก็ค่อยๆออกกลับไป ครั้งนี้จึงต้องเลื่อนเวลาให้มีเวลาซัก 2 ชั่วโมง เหมือนครั้งก่อน หากเกิน 19.00 น. ชาวบ้านคงทะยอยกลับกันไปแล้ว โดยแต่ละที่บอกเลยว่ากว่าจะได้กิจกรรมโครงการ หรือปัญหามาก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ละที่ก็ใช้เทคนิคไม่เหมือนกัน ต้องคอยดูสถานการณ์ว่าตอนนั้นชาวบ้านให้ความร่วมมือดีหรือไม่ โดยผมมักจะใช้วิธีการชวนพูด ชวนคิด ไปอย่างไม่รู้ ถามีไปอย่างไม่รู้ให้ชาวบ้านตอบ บางครั้งก็แกล้งถามนำไปให้เค้าตอบอย่างที่เราต้องการเพื่อให้เค้าได้ฉุกคิดขึ้นมา และเห็นถึงปัญหานั้นๆ
โดยส่วนใหญ่ผมมันจะใช้วิธีพูดเพื่อให้เห็นถึงปัญหา ถามนำไปก่อน พอถึงจุดที่เป็นปัญหา ชาวบ้านที่พบปัญหาต่างคนต่างมีส่วนร่วม เพราะเป็นปัญหาที่เค้าไม่รู้จะแก้ยังไง และกระทบกับความเป็นอยู่ อาชีพ รายได้ หากยังไม่เจอจุดปัญหาเราก็เปลี่ยนเรื่องชวนคุยไปแนวทางอื่นๆบ้าง ใช้เวลาค่อย ๆ เก็บประเด็นจนครบ จึงใช้เวลามาก หมดเวลาที่จะวิเคราะห์จุดเด่นของชุมชน แต่ได้ในส่วนของปัญหาที่กระทบกับความต้องการ และโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
และการทำแผนนี้ยังคงต้องนำกิจกรรมกลับมาทบทวนว่ายังมีกิจกรรมโครงการที่ยังได้ได้ทำหรือไม่ หากมีก็จะใส่กลับเข้าไปในแผนปีต่อไป หากทำแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นก็จะตัดออกจากแผนได้ เพื่อให้เหลือโครงการตามความต้องการของพี่น้องประชาชนต่อไป